นโยบายด้านภาษี
บริษัทได้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการเป็นผู้เสียภาษีอากรที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาประเทศ บริษัทจัดให้มีกระบวนการบริหารจัดการ การวางแผนด้านภาษีอากร และการเสียภาษีอากรตามแนวทางที่กฎหมายกำหนด จึงได้กำหนดนโยบายด้านภาษีอากร เพื่อที่จะใช้ในการควบคุมความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ตลอดจนมีการปฏิบัติทางด้านภาษีที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับกฎหมายภาษี เพื่อให้บริษัทได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เหมาะสม ปกป้องชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของบริษัท รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น ดังนี้
- มีการบริหารจัดการ การวางแผนด้านภาษีอากร และการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ เพื่อชำระภาษีในจำนวนที่เหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมายกำหนด
- มีการนำส่งภาษี หรือขอคืนภาษีอย่างถูกต้อง และภายในระยะเวลาที่กำหนด
- มีการวางแผน ศึกษา วิเคราะห์ผลกระทบทางภาษี สำหรับการทำธุรกรรมใหม่ๆ หรือทบทวนเมื่อมีกฎหมายใหม่
- มีการกำหนดผู้รับผิดชอบที่มีความรู้ด้านภาษีอากรในการประสานงานติดต่อกับหน่วยงานภาษีของรัฐ และมีการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้รับผิดชอบดังกล่าวเข้าอบรมและศึกษาหาความรู้ทางภาษีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ข้อมูลทางภาษีที่ถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริงในการดำเนินธุรกิจ
- มีการให้ความรู้และคำปรึกษากับพนักงานภายในบริษัทเกี่ยวกับภาษีอากร เพื่อให้ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายภาษีอากร
- มีการพิจารณาว่าจ้างที่ปรึกษาด้านภาษีอากรที่มีความเชี่ยวชาญ และให้คำปรึกษาในกรณีที่จำเป็น เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และถูกต้องตามแนวทางที่กฎหมายกำหนด
การจัดทำรายงานภาษี และการนำส่งภาษี
- มีการสอบทานรายการคำนวณภาษีประจำเดือน ว่ามีความถูกต้องหรือไม่
- มีการตรวจสอบเอกสารการจ่ายทุกครั้งโดยผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน เพื่อตรวจสอบว่าได้มีการหักภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่ายอย่างครบถ้วนหรือไม่
- มีการตรวจสอบรายงานภาษีหัก ณ ที่จ่าย จะมีการตรวจสอบรายงานกับบัญชีแยกประเภท และ หนังสือรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่ายทุกครั้ง โดยผู้จัดทำจะส่งให้ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงินสอบทาน
- มีการกำหนดระยะเวลาในการจัดทำแบบการนำส่งภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่ายภายใน วันที่ 7 ของเดือนถัดไป
- มีการจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ รายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขายตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
- มีการตรวจสอบรายงานภาษีซื้อ ภาษีขาย จะมีการตรวจสอบรายงานกับบัญชีแยกประเภท และใบกำกับภาษี และส่งให้ ผู้จัดการฝ่ายบัญชีสอบทานและอนุมัติ
- กำหนดให้มีการจัดทำแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ถ้ามี) ให้เสร็จภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
- มีการตรวจสอบความถูกต้องของรายการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลทุกครั้งโดย ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน ซึ่งจะปรับปรุงรายการภาษีเงินได้ทุกไตรมาส
- มีการควบคุมให้มีการนำส่งภาษีต่อกรมสรรพากรอย่างทันเวลา
การรับเงิน
- กรณีมีการขายทรัพย์สินหรือกิจกรรมอื่นใด แล้วก่อให้เกิดการรับเงินสด ต้องมีการนำฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารของบริษัทภายในวันนั้นโดยทันที
- กำหนดให้เอกสารการรับเงินจากการขายไฟฟ้าประกอบด้วย ใบนำฝากธนาคาร และสำเนาใบเสร็จรับเงินใบกำกับภาษี
- กำหนดให้มีการตรวจสอบรายการบันทึกบัญชีรับเงินระหว่างเอกสารการบันทึกบัญชีและสมุดรายวันรับทุกเดือน โดยเจ้าหน้าที่และผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน
- กำหนดให้การออกเอกสารใบเสร็จรับเงิน ต้องออกจากแผนกบัญชีของบริษัท โดยเอกสารออกเป็นชุดและมีการควบคุมความครบถ้วนของเอกสารดังกล่าว โดยการให้เลขที่เรียงจากระบบโปรแกรม
การจ่ายเงิน
- กำหนดให้การจ่ายเงินต้องมีการจัดทำเอกสารใบสำคัญจ่ายทุกครั้ง และต้องมีการแนบเอกสารใบเสร็จรับเงินทุกครั้ง
- กำหนดให้การจ่ายเงินทุกครั้งต้องจ่ายโดยการโอนผ่านบัญชีธนาคาร หรือจ่ายเช็คสั่งจ่ายผู้รับและขีดคร่อมเข้าบัญชีผู้รับโดยตรง
- กำหนดให้มีการตรวจสอบเอกสารการจ่ายเงินทุกครั้งโดยเจ้าหน้าที่การเงินจ่าย และผู้จัดการฝ่ายบัญชีการเงิน
- กำหนดให้มีการอนุมัติรายการจ่ายโดยผู้มีอำนาจตามวงเงินที่กำหนดซึ่งอนุมัติโดยผ่านระบบของธนาคารตามอำนาจอนุมัติที่กรรมการของบริษัทได้ทำหนังสือแจ้งไว้กับธนาคารแล้ว
- กำหนดให้มีการประทับตรา “จ่ายแล้ว” ในเอกสารการจ่ายเงินทุกใบ
การจัดทำงบประมาณและการควบคุม
- มีการจัดทำงบประมาณประจำปี ทั้งบริษัท
- มีการเสนองบประมาณประจำปีเพื่ออนุมัติจากผู้มีอำนาจของบริษัท
- มีการอนุมัติงบประมาณทุกครั้งก่อนเบิกใช้โดยผู้บริหารสูงสุดของแต่ละหน่วยงาน และกรณีเป็นงาน Project หรือลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ต้องมีการตรวจสอบโดยผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน อีกครั้ง จึงจะเบิกใช้ได้
- มีการจัดทำรายงานเปรียบเทียบงบประมาณกับข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงทุกเดือน และนำเสนอที่ประชุมบริษัท