จรรยาบรรณนักลงทุนสัมพันธ์

จรรยาบรรณนักลงทุนสัมพันธ์ (Code of Conduct For Investor Relations)

บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลของบริษัททั้งที่เกี่ยวกับการเงินและที่ไม่เกี่ยวกับการเงิน ซึ่งมีผลต่อกระบวนการตัดสินใจของผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย โดยบริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการเปิดเผยสารสนเทศต่าง ๆ จึงได้จัดให้มี “จรรยาบรรณของนักลงทุนสัมพันธ์” เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานและส่งเสริมให้การดำเนินงานของฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ โดยตั้งอยู่บนหลักจริยธรรม เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และจรรยาบรรณทางธุรกิจ และเน้นให้มีการเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ยึดถือผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายเป็นสำคัญ โดยคณะกรรมการ คณะผู้บริหารระดับสูง นักลงทุนสัมพันธ์ และพนักงานทุกคนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลภายใน และงานนักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัท ต้องยึดมั่นแนวปฏิบัติตามหลัก “จรรยาบรรณของนักลงทุนสัมพันธ์” ดังต่อไปนี้

1. การเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและจำเป็น อย่างถูกต้อง เพียงพอ และทันเวลา

  • เปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง เพียงพอ และทันเวลา โดยปฏิบัติตามข้อกำหนดของหน่วยงานทางการ เช่น สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  • ห้ามให้ข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้า และ/หรือ ข้อมูลที่อาจทำให้บริษัทเสียความสามารถในการแข่งขันต่อสาธารณะ
  • ไม่เปิดเผยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ด้วยเจตนารมย์ ในการผลักดันให้มีการซื้อหุ้นของบริษัท
  • มีช่องทางการเปิดเผยข้อมูลหรือแหล่งข้อมูลให้กับผู้ใช้ข้อมูลได้รับทราบอย่างเท่าเทียมกัน

2. การดูแลและรักษาข้อมูลภายใน

  • กำหนดแนวทางในการดูแลข้อมูลภายใน โดยระบุและจำกัดบุคคลที่สามารถเข้าถึงข้อมูลภายในได้ นักลงทุนสัมพันธ์และฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องที่ที่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลภายใน ต้องไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้บุคคลอื่นทราบจนกว่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ตามกฎเกณฑ์ต่างๆ แล้ว
  • ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดูแล ข้อมูลภายในให้ถูกต้อง เช่น ข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงาน เปิดเผยผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ทราบทั่วกันก่อนมีการเปิดเผยให้กับผู้ลงทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ เจาะจง
  • จัดทำบัญชีรายชื่อบุคคลที่สามารถเข้าถึงหรือครอบครองข้อมูลภายใน (Insider List) ซึ่งได้แก่ กรรมการ ผู้บริหาร และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ที่มีโอกาสล่วงรู้ข้อมูลภายในและอาจหาผลประโยชน์จากข้อมูลนั้นก่อนที่ข้อมูลจะเปิดเผยต่อสาธารณชน โดยจะถูกห้ามทำรายการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งหลักทรัพย์ของบริษัทในช่วงที่มีข้อมูลภายในหรือข้อมูลอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์รวมถึงในช่วงระยะเวลา 30 วัน ก่อนการเปิดเผยข้อมูลงบการเงินของบริษัทฯต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ และ 1 วันหลังจากการเปิดเผยข้อมูล
  • กำหนดช่วงเวลางดรับนัดหรือตอบคำถาม เกี่ยวกับผลประกอบการในอนาคตอันใกล้ให้แก่นักวิเคราะห์และ นักลงทุน (Quiet Period) เป็นเวลา 7 วันก่อนการเปิดเผยงบการเงิน

3. การเปิดเผยข้อมูลอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

  • เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียมีโอกาสเข้าถึง ข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ รูปแบบกิจกรรมที่จัดให้บุคคลแต่ละกลุ่มอาจแตกต่างกันได้ตามความเหมาะสม แต่ข้อมูลที่ให้ต้องเป็น ข้อมูลที่เท่าเทียมกันและไม่ทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียเปรียบหรือ เสียโอกาสในการลงทุน
  • เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียติดต่อและสอบถาม ข้อสงสัยได้ตามความเหมาะสม โดยไม่เลือกปฏิบัติที่จะติดต่อแต่ เฉพาะบุคคลกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเป็นพิเศษ
  • ใช้ความระมัดระวังในการสื่อสารข้อมูลผ่าน ทางเครือข่ายทางสังคม (Social Network) โดยมีการติดตามข้อมูลข่าวสารเพื่อช่วยให้เข้าใจมุมมองของนักลงทุน แต่หากพบประเด็นที่ก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน และจำเป็นต้องชี้แจง นักลงทุนสัมพันธ์ควรแจ้งข้อมูลผ่านทาง ระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ทุกฝ่ายรับทราบโดยทั่วกัน เพื่อป้องกันปัญหาการให้ข้อมูลเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

4. การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

  • หลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ อันเป็นการขัดต่อ ผลประโยชน์ของบริษัท เช่น การใช้ทรัพย์สินหรือข้อมูลของ บริษัทเพื่อประโยชน์ส่วนตน
  • ไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนจากความสัมพันธ์และข้อมูลที่ได้จากการทำหน้าที่นักลงทุนสัมพันธ์ให้แก่บริษัท
  • ปฏิบัติตามนโยบายและจรรยาบรรณพนักงาน ต่างๆ ที่บริษัทฯ ได้กำหนดไว้